March 14, 2022
Thesis 2012 : CU/8
โครงการปรับปรุงผังโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กเชิงนิเวศ สหวิริยา
ชื่อผลงาน : โครงการปรับปรุงผังโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กเชิงนิเวศ
ชื่อเจ้าของผลงาน : นางสาว พัณณิตา พนิตภราดร
ลักษณะพื้นที่โครงการ
พื้นที่โครงการตั้งอยู่ที่ ถนนสุขุมวิทสายเก่า ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
พื้นที่ทั้งหมด 1,267 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ที่มุ่งเน้นในการออกแบบ 224 ไร่ และพื้นที่ฟื้นฟูนิเวศชายฝั่ง 435 ไร่
ความเป็นมา
เหล็กเป็นโลหะที่ถูกใช้ในการก่อสร้างและประกอบกิจการต่างๆ กว่าร้อยละ90ของโลหะทั้งหมด ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยและขยายตัวอย่างสม่ำเสมอในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ถูกใช้แสดงการชี้วัดค่าความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศนำไปสู่แผนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติบโตด้านอุตสาหกรรมจะมีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและการสร้างงาน แต่กลับส่งผลทางตรงกันข้ามต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศ ประชาชน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณอ่าวไทยตอนบน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาสูง แต่ปรากฏลักษณะทางกายภาพที่แสดงความขัดแย้งของการใช้งานด้วยการเป็นพื้นที่ประกอบอุตสาหกรรม และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นในอนาคต
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีการรวมตัวกันตั้งกลุ่มอภิบาลสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดโครงการที่อาศัยความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาครัฐ สร้างรูปแบบอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ โดยอาศัยการสนับสนุนจากโรงงานตัวแทนกว่า 150 แห่ง มีแกนนำ คือ บริษัท สหวิริยา เพลทมิล จำกัด (มหาชน) ให้จัดตั้งพื้นที่ตามแนวคิดของอุตสาหกรรมสีเขียว แสดงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยทำเลที่ตั้งและยุทธศาสตร์พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบทางธรรมชาติ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มสหวิริยา ในการแสดงศักยภาพในฐานะผู้นำนวัตกรรมสีเขียวสู่ระบบอุตสาหกรรมของประเทศไทย
แนวความคิดในการออกแบบ
การสร้างระบบอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน โดยยึดหลักอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ได้แก่ การลดขนาดพื้นที่ดาดแข็ง การลดพลังงาน การส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการสร้างแนวป้องกัน ฯลฯ นำนวัตกรรมดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ตามสภาพพื้นที่ สร้างคุณค่าให้กับระบบอุตสาหกรรมใหม่ โดยสนับสนุนให้เจ้าของอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อม เพื่อย่นระยะการจัดการ เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนและภาพลักษณ์ของบริษัท ในขณะที่โรงงานยังสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ตอบสนองนโยบายขององค์กรที่ต้องการ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีแก่คนใกล้ ช่วยเหลือเกื้อกูลคนไกลและดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม