March 14, 2022

Thesis 2012 : CU/4

ขอแสดงความยินดีกับนิสิตนางสาว ชุดาภา ศรีรัตน์

[Landchula] 2013 SILA Student Awards : Best Design Award – Bronze & Planting Design Award – Silver: นางสาว ชุดาภา ศรีรัตน์ บัณฑิตจากภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งผลงานวิทยานิพนธ์ หัวข้อ “โครงการออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ตำบลบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ” เข้าประกวด SILA Student Awards 2013 จัดโดย Singapore Institute of Landscape Architects ได้รับ 2 รางวัล คือ รางวัล Best Design Award – Bronze และ รางวัล Planting Design Award – Silver ขอแสดงความยินดีกับนิสิตในครั้งนี้ด้วย
 
Download : http://www.sila.org.sg/website/downloads/BeyondJustGreen2013_Publication.pdf
 
Link : http://www.sila.org.sg/website/stuawards.php?id=4&sid=1
 
 
ชื่อผลงาน : โครงการสวนสาธารณะศรีนครเขื่อนขันธ์ จ.สมุทรปราการ
 
ชื่อเจ้าของผลงาน : นางสาวชุดาภา ศรีรัตน์
 
          โครงการสวนสาธารณะศรีนครเขื่อนขันธ์เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริและนโยบายของรัฐบาล ถูกก่อสร้างขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการรักษาพื้นที่สีเขียวบางกะเจ้าและชักชวนประชากรเมือง ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เดินทางมาท่องเที่ยวท่ามกลางพื้นที่ธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพยั่งยืนต่อไป แต่นโยบายจากภาครัฐในการสนับสนุนพัฒนาพื้นที่ยังไม่รัดกุมเพียงพอ ส่งผลให้โครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จอย่างตั้งใจ ทั้งจากอุปสรรคด้านการเข้าถึงพื้นที่ที่ยากลำบาก และการขาดการดูแลจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระเพาะหมูบางกะเจ้าแห่งนี้กำลังถูกทอดทิ้ง ชาวบ้านอพยพออกไปหางานและความเจริญจากเมืองรอบนอก สภาพแวดล้อมที่เคยอุดมสมบูรณ์จึงถูกทิ้งร้างและเสื่อมโทรมลง
 
          นอกจากความเสื่อมโทรมด้านกายภาพแล้ว ด้านจิตใจของคนในพื้นที่ที่มีต่อบางกะเจ้าก็ลดความผูกพันลงเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะไม่มีพื้นที่ให้ชุมชนได้ทำกิจกรรมและประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับยุคสมัย ชุมชนจึงขาดความปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกับพื้นที่ ดังนั้น จากการวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวแล้ว โครงการออกแบบและปรับปรุงสวนศรีนครเขื่อนขันธ์จึงต้องการผลักดันให้พื้นที่โครงการเป็นสถานที่เชื่อมโยงระหว่างคนในชุมชนกับบุคคลภายนอก เพื่อเป็นการสนับสนุนให้พื้นที่โครงการเป็นสถานที่นำร่องในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อื่นๆในบางกะเจ้าต่อไปโดยประสานความร่วมมือกับชุมชมและองค์กรท้องถิ่นผนึกกำลังสร้างแรงดึงดูดของบางกะเจ้า ทั้งด้านวัฒนธรรมเกษตรและธรรมชาติ ให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาเรียนรู้และพักผ่อนไปพร้อมๆกัน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกจัดแสดง สอดแทรกกลิ่นอายของความเป็นบางกะเจ้าทุกอณู ซึ่งนักท่องเที่ยวเองก็จะได้รับความรู้จากผู้เชียวชาญท้องถิ่นและสัมผัสประสบการณ์ที่แท้จริง ก่อนออกท่องเที่ยวมุมอื่นๆทั่วบางกะเจ้าในขณะที่คนในชุมชนก็สามารถทำกิจกรรมชุมชนและสร้างรายได้เลี้ยงชีพได้ด้วย ดังนั้น โครงการนี้จึงเป็นแนวทางการจัดการเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนทั้ง 2 ฝ่าย ยังผลพลอยได้คือพื้นที่สีเขียวเหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันอุดมสมบูรณ์และมีคุณภาพ ทั้งชุมชนก็สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองไปพร้อมๆกับการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมอันมีค่า ทำให้บางกะเจ้าผ่านพ้นวิกฤตการณ์รอบด้านไปได้อย่างยั่งยืน