March 14, 2022
Thesis 2012 : CU
Sand Pit Reclamation Education Center
ชื่อผลงาน : ศูนย์ศึกษาการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมจังหวัดระยอง (Sand Pit Reclamation Education Center)
ชื่อเจ้าของผลงาน : น.ส. อคัมย์สิริ ล้อมพงศ์
โครงการศูนย์ศึกษาการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรม จังหวัดระยอง (Sand Pit Reclamation Education Center) นั้น มีที่มาจากการที่ประเทศไทยมีการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการขยายตัวของเมือง ซึ่งจำเป็นต้องใช้วัสดุก่อสร้างมากขึ้น ทรายถือว่าเป็นวัตถุดิบหลักในการก่อสร้าง จึงมีการเพิ่มขึ้นของพื้นที่บ่อขุดทรายทั่วประเทศ เมื่อนำเอาทรายมาใช้ประโยชน์จนหมดสิ้นแล้ว พื้นที่จะถูกปล่อยทิ้งร้างกลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ในฐานะภูมิสถาปนิกจึงมีแนวคิดที่จะเข้ามาทำการออกแบบและฟื้นฟูพื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์ให้กลับมามาประโยชน์อีกครั้งหนี่ง นอกจากการฟื้นฟูแล้วพื้นที่เหล่านี้มักเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรเดิม มีความสำคัญในแง่ของการผลิตอาหารของเมือง จึงมองเห็นความสำคัญของโครงการที่สามารถเป็นโครงการตัวอย่าง พร้อมทั้งประยุกต์แนวทางและวิธีการฟื้นฟูให้กับพื้นที่เสื่อมโทรมประเภทบ่อขุดทรายในพื้นที่อื่นๆ และเป็นตัวอย่างด้านการพัฒนาการเกษตรได้อีกด้วย
โดยมีแนวคิด Re-Oasis เป็นการพลิกฟื้นคืนชีวิตให้กลับสู่พื้นที่อีกครั้ง โดยพัฒนาการเกษตรที่เป็นแหล่งผลิตอาหารของเมืองและอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติเดิมเพื่อกระตุ้นการฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่เสื่อมโทรม ส่งผลให้เกิดการสร้างชีวิตและการอยู่อาศัยร่วมกันของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยการออกแบบเน้นการแบ่งปันการใช้พื้นที่ การใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตแตกต่างกันอย่างคนเมืองระยองและคนเกษตร ศึกษาเรียนรู้กระบวนการพัฒนาฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ตลอดจนกระตุ้นให้มนุษย์เห็นถึงคุณค่าและประโยชน์มากมายที่เกิดจากพื้นที่เสื่อมโทรมซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นโอเอซิสของเมือง ซึ่งในส่วนกระบวนการวางแผนผังโครงการ จะมีเรื่องระยะเวลาสัมพันธ์กับสภาพพื้นที่และการฟื้นฟู ซึ่งในแต่ละระยะเวลามีการออกแบบที่ต่างกันและเป็นช่วงการพัฒนาเป็นส่วนๆ สอดคลองกันแนวทางการฟื้นฟูและการทำเกษตรกรรมที่เป็นหลักในการฟื้นฟูพื้นที่ ประกอบกับคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ของคนในพื้นที่ ทั้งในแง่การศึกษาเรียนรู้และแง่นันทนาการสาธารณะ
ดังนั้นจากการประยุกต์ใช้แนวทางเกษตรกรรมในการพัฒนาพื้นที่โครงการ และประยุกต์ใช้แนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาให้เป็นพื้นที่ศึกษาธรรมชาติและนันทนาการสาธารณะให้กับคนเมือง โครงการนี้จึงเปรียบเสมือนโครงการต้นแบบ เป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้กับการพัฒนาพื้นที่ด้วยการออกแบบและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ เป็นแบบอย่างในการกระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัวกับสภาพปัญหาดังกล่าว จุดประกายการพัฒนาพื้นที่ประเภทนี้ เพื่อในอนาคตจะได้มีพื้นที่มีสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ดี คนจะเห็นคุณค่าของธรรมชาติมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้