March 10, 2022

การปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดพัทยา

ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อกรณีปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดพัทยา

ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อกรณีปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดพัทยา โดย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย

 

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ตัวแทนสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายต้นไม้เมือง กลุ่มบิ๊กทรี และสมาคมรุกขกรรมไทย ได้ลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริงและได้ประชุมหารือกับนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ร่วมด้วยคณะผู้บริหารเมืองพัทยา เจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยา เจ้าหน้าที่สำนักโยธาเมืองพัทยา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนประชาชน ได้รับทราบข้อมูลที่นำมาสู่การให้ความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้

 

ที่มาของการปรับปรุงภูมิทัศน์

 

การปรับปรุงภูมิทัศน์ของชายหาดพัทยาไม่ใช่แค่การขยายทางเท้าและปลูกต้นปาล์มใหม่ แต่เป็นความพยายามแก้ปัญหาหลักๆของพัทยา 3 เรื่องคือ การกัดเซาะชายฝั่ง การจราจร และการระบายน้ำ

 

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

 

ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เมืองพัทยาร่วมกับกรมเจ้าท่าใช้วิธีการวาง Big Bag เพื่อลดปัญหาการกัดเซาะและสร้างหาดเทียมด้วยการถมทรายขยายหน้าหาดให้มีความกว้างเพิ่มขึ้นประมาณ 35 เมตรตลอดระยะความยาว 2.8 กิโลเมตร ซึ่งเมืองพัทยามีแผนที่จะใช้พื้นที่ว่างที่เพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 ตารางเมตรเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆทั้งนันทนาการ กีฬา event & exhibition

 

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

 

มีการขยายถนนเลียบหาดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเลนเพื่อเป็นที่จอดรถอีก 600 คันสำหรับนักท่องเที่ยว Day trip ชาวไทย ส่งผลให้ต้องขยับแนวทางเท้าเข้าไปในพื้นที่ชายหาด และมีการตัดต้นหูกวางตามที่เป็นข่าว จากการลงพื้นที่พบว่ามีต้นหูกวางขนาดใหญ่เหลืออยู่ประมาณ 30 ต้นทางด้านใต้ของชายหาดที่ยังไม่ถูกตัด รวมทั้งต้นไม้มรดกขนาดใหญ่ (Heritage tree) 2 ต้นคือต้นเกดและต้นนนทรี

 

ปัญหาการระบายน้ำ

 

ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เมืองพัทยายังไม่สามารถแก้ไขได้ เมื่อเกิดฝนตกหนักยังจำเป็นต้องใช้วิธีระบายลงทะเลโดยตรงผ่านชายหาด เซาะทรายที่ถมไว้ลงทะเลไปจนเหลือแต่ Big Bag และต้องถมทรายใหม่บริเวณนั้นทุกครั้ง

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงภูมิทัศน์

 

ปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองพัทยาซับซ้อนและใหญ่เกินกว่าจะสามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยการบูรณาการของศาสตร์หลายแขนง รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการเมือง และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน การปรับปรุงภูมิทัศน์และการปลูกต้นไม้เป็นเพียงเรื่องปลายเหตุและจะไม่สามารถแก้ปัญหาอื่นๆอย่างยั่งยืนได้ อย่างไรก็ตาม เมืองพัทยาควรถือโอกาสในการที่ได้พื้นที่ที่เพิ่มขึ้นจากการถมทรายขยายชายหาดทำการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะอันจะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของชาวพัทยาได้

 

  •     
  • การขยายพื้นที่ถนนและที่จอดรถบริเวณชายหาดอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาจราจรได้จริง ดังนั้นจึงควรส่งเสริมการเข้าถึงชายหาดจากภายในตัวเมืองด้วยการเดินเท้ามากกว่ารถยนต์ โดยจัดให้มีที่จอดรถรวมที่นอกเมืองหรือภายในเมืองและมีระบบ shuttle นำคนสู่ชายหาด ปรับปรุงถนนย่อยที่ตั้งฉากกับชายหาดให้เป็นถนนคนเดิน( Walking street) ยกระดับผิวถนนบริเวณจุดข้ามไปสู่ชายหาดเพื่อชะลอความเร็วรถยนต์ การจำกัดการเข้าถึงของรถยนต์บริเวณชายหาดจะเป็นการลดมลพิษและเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้หาด การส่งเสริมให้คนเดินผ่านพื้นที่ด้านในเมืองจะกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น
        


        

        

  •     
  • นอกจากการใช้พื้นที่ชายหาดเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้วควรจัดแบ่งโซนให้มีพื้นที่สาธารณะที่คนทั่วไปสามารถใช้ได้ฟรี มีการเข้าถึงสำหรับทุกคน (Universal design) มีกิจกรรมที่หลากหลายที่เกิดจากความต้องการของคนในพื้นที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและความหวงแหนต่อพื้นที่สาธารณะ อันจะทำให้พัทยาเป็นเมืองที่มีความ’น่าอยู่’มากขึ้น อันจะทำให้วิสัยทัศน์ “นครศูนย์กลางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน ยั่งยืนและน่าอยู่สำหรับทุกคน” กลายเป็นความจริง



  •  
  •  
 

ข้อเสนอแนะต่อการจัดการต้นไม้บริเวณชายหาด

 

ต้นหูกวางเดิมที่เหลืออยู่รวมถึงต้นไม้มรดก (Heritage tree) อย่างต้นเกด ต้นนนทรี ต้นมะขาม รวมถึงต้นยางนาขนาดใหญ่บริเวณด้านในของเมือง เมืองพัทยาควรใช้ความพยายามอย่างสูงสุดในการเก็บไว้ทั้งหมด เพื่อประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นจุดหมายตา (Landmark) และจินตภาพของเมือง (Image of the city)โดยอาศัยหลักวิชารุกขกรรมร่วมกับการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ตามลำดับดังนี้

 

  •     
  • สำรวจความเสี่ยง (Tree Risk Assessment) และสุขภาพของต้นไม้ และสำรวจระบบรากแต่ละต้นเพื่อกำหนดวิธีการป้องกันรักษา

  •     
  • วางแผนจัดการก่อสร้างไม่ให้กระทบระบบราก เช่น ใช้โครงสร้างลอยเหนือพื้นดิน ใช้วัสดุปูพื้นที่น้ำและอากาศยังสามารถผ่านลงดินได้ ( Permeable pavement)

  •     
  • บริเวณที่ต้นหูกวางเดิมถูกตัดไปแล้วควรปลูกไม้ยืนต้นพื้นถิ่นทดแทน โดยปลูกต้นไม้ตั้งแต่ยังเล็กที่มาจากการเตรียมกล้าไม้และการขุดล้อมที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโตขึ้นมาแทนที่ต้นปาล์มในอนาคต พันธุ์ไม้ชายหาดพื้นถิ่นที่แนะนำคือ เกด กระทิง จิกทะเล เป็นต้น



  •  
  •  
 

เหตุผลที่ไม้ยืนต้นพื้นถิ่นมีความเหมาะสมกับชายหาดพัทยามากกว่าพืชตระกูลปาล์ม

 

  •     
  • ไม้พื้นถิ่นมีสามารถปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมชายหาดได้ดีกว่า ลดภาระการดูแลรักษาและการปลูกทดแทนในระยะยาว ในขณะที่ไม้ต่างถิ่นอย่างปาล์มบางชนิดที่แม้ปลูกเป็นระยะเวลานานแล้ว มีสภาพคอกิ่ว หรือทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด

  •     
  • ไม้ชายหาดมีระบบรากแผ่กว้างและสอดประสานกันเอง ช่วยยึดหน้าดิน ชะลอการชะล้างและไม่โค่นล้มง่าย

  •     
  • การปลูกไม้พื้นถิ่นที่หลากหลายจะเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดได้

  •     
  • ไม้ยืนต้นสามารถถูกตัดแต่งเพื่อควบคุมขนาดและทรงพุ่มเพื่อความสวยงาม ปลอดภัย และง่ายต่อการดูแลรักษา ซึ่งวิธีการทางรุกขกรรมเหล่านี้ไม่สามารถใช้กับต้นปาล์มได้

  •     
  • ทรงพุ่มที่แผ่กว้างและใบที่ทึบกว่าของไม้ยืนต้นให้ร่มเงาได้ดีกว่า จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวชาวเอเชียที่จะเป็นกลุ่มผู้มาเยือนหลักในอนาคตให้ใช้เวลาที่บริเวณชายหาดได้หลายช่วงกว่า นอกจากนี้พุ่มใบของไม้ยืนต้นจะกันแสงแดดและลดความร้อนสะสมบนผิวทางเท้าและถนน ต้นไม้เป็น Green infrastructure ที่ราคาถูกแต่ได้ผลดีที่สุด

  •     
  • ทรงพุ่มที่แผ่กว้างทำให้สามารถปลูกไม้ยืนต้นในระยะห่างที่มากกว่าต้นปาล์ม จึงมีพื้นที่บนดินเหลือสำหรับใช้งานได้มากกว่า

  •     
  • ไม้ยืนต้นจะช่วยบังสิ่งก่อสร้างที่ไม่เรียบร้อยตามแนวชายหาด ทำให้ชายหาดและทะเลดูสงบสวยงาม

  •     
  • ต้นไม้พื้นถิ่นจะสร้างเอกลักษณ์ที่แท้จริงของท้องถิ่นนั้นๆ ได้เอง (Geographic identity) โดยไม่จำเป็นต้องพยายามเลียนแบบจากที่อื่น



  •  
  •  
 
 

 

Tala Membership

REGISTER